วันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ครั้งที่ 3 ข้อมูลสำหรับการอ้างอิงในองค์ประกอบที่ 2

สำหรับการพูดคุยกันวันนี้จะพิจารณาถึงปัญหาต่างๆ ในตัวบ่งชี้ขององค์ประกอบที่ 2 โดยอาศัยการพิจารณาจากการอ้างอิงเอกสารในรายงานการประเมินตนเองปีการศึกษาที่ผ่านมาของคณะและสาขาวิชาต่างๆ ซึ่งจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันจะมีตัวบ่งชี้ที่มีปัญหาในการดำเนินการโดยสามารถสรุปประเด็นได้ดังนี้


ตัวบ่งชี้ที่ 2.1 ระบบและกลไกการพัฒนาและบริหารหลักสูตร

สำหรับประเด็นนี้ ผมได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดำเนินการของสถาบันที่มีการนำระบบการบริหารจัดการมคอ.ของม.บูรพามาทดลองใช้งานและคาดว่าจะนำมาใช้จริงในปีการศึกษา 2557
สมาชิกได้แลกเปลี่ยนกันและมีประเด็น คือ การจัดทำมคอ.5 สำหรับวิชาที่สอนบริการจะมีปัญหาการแยกรายชื่อนศ.เป็นคณะ ซึ่งผมได้แจ้งที่ประชุมว่าในการประชุมผู้บริหาร คณบดีได้แจ้งว่าอย่างไรแล้วผู้สอนก็จะต้องจัดทำมคอ.5 โดยแยกผู้เรียนตามคณะ และผอ.ปราณีได้เสนอว่าให้ลองสอบถามผศ.สันติ เพราะผศ.สันติเคยช่วยดำเนินการเรื่องการแยกรายชื่อให้ ซึ่งอาจจะดำเนินการผ่านระบบของสำนักทะเบียน

ผมได้สอบถามผศ.สันติแล้ว ระบบของสำนักทะเบียนไม่สามารถแยกรายชื่อนักศึกษาตามคณะได้

ตัวบ่งชี้ที่ 2.4 ระบบการพัฒนาคณาจารย์และบุคลากรสายสนับสนุน

ประเด็นที่ยังเป็นปัญหาอยู่ คือ เกณฑ์ "มีระบบการติดตามคณาจารย์นำความรู้และทักษะไปใช้" ซึ่งคณะยังไม่มีระบบและกลไกการติดตามเรื่องนี้ ดังนั้นทีมผู้บริหารควรร่วมกันพิจารณาจัดทำระบบและกลไกเพื่อให้สามารถติดตามการนำความรู้และทักษะไปใช้ โดยในกลุ่มที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเสนอว่า ควรกำหนดให้อาจารย์ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากคณะเพื่อการพัฒนา จะต้องรายงานผลการนำความรู้และทักษะไปใช้ตอนทำเรื่องเคลียร์เงิน

ตัวบ่งชี้ที่ 2.6 ระบบและกลไกการจัดการเรียนการสอน

ตัวบ่งชี้นี้จะมีปัญหาในหลายเกณฑ์มาตรฐาน ได้แก่
ข้อ 4 : สมาชิกเสนอแนวทางให้สาขาวิชาครุศาสตร์อุตสาหกรรม ช่วยดำเนินการเพื่อจัดทำให้รายวิชาครูบางรายวิชาซึ่งทุกหลักสูตรต้องเรียน มีการดำเนินการที่สามารถตอบข้อนี้ได้ (ส่วนหลักสูตรของสาขาวิชาศิลปศาสตร์ประยุกต์ คงต้องดำเนินการเอง)
ข้อ 5 : ครุศาสตร์สถาปัตยกรรมและการออกแบบ มีแบบฟอร์มอยู่ ควรเอามาปรับใช้กับทุกๆ สาขาวิชา
ข้อ 7 : ควรหาแนวทางการทวนสอบให้เหมือนกันทุกสาขาวิชา โดยคณะควรกำหนดแนวทางให้ชัดเจน

ตัวบ่งชี้ที่ 2.7 ระบบและกลไกการพัฒนาสัมฤทธิผลการเรียนตามคุณลักษณะของบัณฑิต

กรณีนักศึกษาระดับปริญญาตรียังไม่มีระบบและกลไกที่สนับสนุนเรื่องการมีส่วนร่วมในการประชุมทางวิชาการ ซึ่งสมาชิกได้เสนอแนวทาง เช่น การจัดทำประกาศหรือมีมติจากที่ประชุมคณะกรรมการประจำส่วนงาน ซึ่งอนุญาตให้นักศึกษา (ทั้งระดับป.ตรีและบัณฑิต) ลาไปร่วมประชุมวิชาการได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น